พินัยกรรมของสมเด็จพระมหาธีราจารย์
"เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้"
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร
วัน-เวลา | เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น |
16 กุมภาพันธ์ 2539 | สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ ส่งผลให้ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางว่างลง
ขณะนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้มาตั้งแต่ พ.ศ.2534 แต่มีการโยกสลับตำแหน่ง โดยให้พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง |
24 ธันวาคม 2549 | พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มรณภาพ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ว่างลง |
10 มกราคม 2550 | มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะภาค 18 ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ |
5 ธันวาคม 2550 | พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระพรหมจริยาจารย์ |
20 ธันวาคม 2550 | มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะภาค 18 และรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ |
19 กุมภาพันธ์ 2554 | พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เจ้าคณะภาค 10 ประสบอุบัติเหตุมรณภาพ |
20 กุมภาพันธ์ 2554 | มหาเถรสมาคมมีมติตั้งให้พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักวรรดิราชาวาส รองเจ้าคณะภาค 10 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 |
28 กุมภาพันธ์ 2554 | มหาเถรสมาคม โดยการเสนอของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสระเกศเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ลงมติแต่งตั้งให้พระธรรมสิทธินายก (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก พธ.บ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 |
11 มีนาคม 2554 | สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ปฺ.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ |
21 มีนาคม 2554 | มหาเถรสมาคม แต่งตั้งให้พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะภาค 1 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางแทนสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ส่งผลให้ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ว่างลง |
11 เมษายน 2554 | พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 45 พรรษา 25 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 |
20 เมษายน 2554 | พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 45 พรรษา 25 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
พร้อมกันนั้น ได้เสนอแต่งตั้งให้พระศรีศาสนวงศ์ (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดหงษ์รัตนาราม อายุ 45 พรรษา 25 ให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 1 อีกรูปหนึ่งด้วย |
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ ผู้ที่ไม่สนใจหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์ของพระสงฆ์และโครงสร้างการบริหารกิจการของคณะสงฆ์ไทย จะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แม้แต่พระสงฆ์สามเณรส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีสอนในห้องเรียน ดังนั้นจึงต้องอธิบาย
ในบรรดาเจ้าคณะภาค ทั้ง 18 ภาคของคณะสงฆ์ไทยเรานั้น ภาค 1 ถือว่าสำคัญสุดยอด เพราะคุมโซนกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงไว้ฉันใด ในบรรดาเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ ทั้ง 4 หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ หนกลางย่อมจะสำคัญกว่าทุกหน ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา-เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพลงไปในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 นั้น ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางได้ว่างลง ขณะนั้น มีพระมหาเถระซึ่งเหมาะสมในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ก็คือ พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร แต่เกิดการสับเปลี่ยนตำแหน่งกันขึ้น คือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้โยกตัวเองมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ส่วนพระพรหมจริยาจารย์นั้นถูกโยกให้ไปเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้แทน พอถึงวันที่ 24 ธ.ธ. 2549 พระพรหมจริยาจารย์ ก็มรณภาพ
ขณะนั้น เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในภาคใต้ พระสงฆ์ถูกปล้นฆ่าถึงในวัด ไม่สามารถจะออกหาอาหารบิณฑบาตได้ตามปรกติ ต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารถืออาวุธคอยคุ้มกันไปทุกอย่างก้าว แม้ว่าตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้จะว่างลง แต่ไม่มีพระสงฆ์ในภาคกลางรูปไหนอยากจะดำรงตำแหน่งอันยิ่งใหญ่นี้ ทั้งนี้เพราะกลัวไฟใต้ไหม้มือนั่นเอง ทั้ง ๆ ที่โดยประเพณีปฏิบัติของมหาเถรสมาคมแต่เดิมมานั้น สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระราชาคณะก็ดี ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ ก็ดี จะไม่ยอมแต่งตั้งพระสงฆ์ในต่างจังหวัด โดยอ้างว่าเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าประชุมมหาเถรสมาคม แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือการกุมอำนาจไว้ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว มหาเถรสมาคมจึงต้องแต่งตั้งให้พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 18 ให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งจ้าคณะใหญ่หนใต้ เพื่อใช้เวลาสรรหาผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยมหาเถรสมาคมได้สมนาคุณพระธรรมรัตนากรด้วยการเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นรองสมเด็จที่ "พระพรหมจริยาจารย์" ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550
ตกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2550 มหาเถรสมาคมจึงหาตัวพระเถระผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ได้แล้ว จึงประกาศแต่งตั้งว่าได้แก่ พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง นั่นเอง
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมหมดปัญญาจะหาพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถในส่วนกลาง จึงจำใจต้องแต่งตั้งให้พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เหมือนปล่อยเค็กให้หลุดจากมือไปต่อหน้าต่อตา
ปัญหายังตามมาอีก เนื่องเพราะตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเจ้าคณะใหญ่จะต้องเข้าร่วมประชุมมหาเถรสมาคมด้วย ดังนั้น ถ้าเจ้าคณะใหญ่มิใช่สมเด็จพระราชาคณะแล้วซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งแล้ว ก็จะต้องได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม มิฉะนั้นก็เข้าประชุมไม่ได้
ถ้าพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) เป็นเจ้าอาวาสวัดในกรุงเทพมหานคร ก็คงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย แต่เพราะอยู่ไกลถึงจังหวัดตรัง แม้จะแต่งตั้งก็คงไม่สามารถจะมาประชุมในกรุงเทพฯได้ จะเดินทางไปๆ มาๆ ก็ยิ่งลำบาก การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ก็เพื่อให้คุมไฟใต้ ถ้าทิ้งพื้นที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ บ่อยๆ งานในพื้นที่บกพร่อง ก็จะไม่สมประสงค์ของการแต่งตั้ง
แต่ถึงกระนั้น มหาเถรสมาคมก็ต้องรับทราบรายงานการปฏิบัติศาสนกิจในภาคใต้อยู่ดี แล้วทีนี้จะทำไฉน ในเมื่อพระพรหมจริยาจารย์เข้าประชุมมหาเถรสมาคมไม่ได้ ที่ว่าไม่ได้นั้นคือโดยวาระปกติ แต่ถ้าจะรายงานการสถานการณ์ไฟใต้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบ ก็อาจจะได้รับอนุญาตให้เข้าประชุมได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคงจะไม่บ่อยนัก ช่องทางเดียวที่พระพรหมจริยาจารย์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนใต้จะรายงานผลการปฏิบัติงานให้เข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้โดยปกติ ก็คือ รายงานผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งอีกด้วย
แต่พระพรหมจริยาจารย์นั้นมีความสนิทชิดเชื้อในสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ถ้าจะรายงานผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็คงจะทำแบบเป็นทางการ แต่ถ้าจะรายงานแบบกันเองก็ต้องผ่านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรืออีกนัยหนึ่ง เวลานี้มีผู้มีบารมีเหนือเจ้าคณะใหญ่หนใต้อยู่ถึง 2 รูป คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ทีนี้ เมื่อมองดูโครงสร้างทางด้านการปกครองของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายมาแต่เดิม ก็จะเห็นว่าเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ นั้นแยกอำนาจกันปกครอง ไม่ขึ้นแก่กันและกัน แต่ครั้นพระพรหมจริยาจารย์ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จึงไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในมหาเถรสมาคม ทั้งที่มีอำนาจมากกว่ากรรมการมหาเถรสมาคมส่วนใหญ่อีกด้วย (เว้นแต่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง หนเหนือหนและตะวันออก) การที่พระพรหมจริยาจารย์ต้องรายงานการปฏิบัติงานในส่วนของเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกอีกตำแหน่งนั้น แสดงให้เห็นว่ามีการรวบอำนาจของ 2 เจ้าคณะใหญ่เข้าไว้ในคนเดียวกันนั่นคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือกล่าวให้ชัดก็คือว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ในปัจจุบัน นอกจากจะดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก โดยนิตินัยแล้ว ก็ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้โดยพฤตินัยอีกด้วย
บางคนก็ว่าพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) วัดกะพังสุรินทร์ ได้อำนาจเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์กินรวบไว้หมด นึกว่าแบ่งแยกแล้วจะปกครอง แต่ที่ไหนได้ มองให้ลึกลงไปกว่านั้นก็จะเห็นว่า เวลานี้คณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายยุบโซนการปกครองลงเหลือเพียง 3 หนเท่านั้น คือ หนกลาง หนเหนือ และหนตะวันออกเฉียงเหนือ+หนใต้ หนสุดท้ายนี้เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ส่วนพระพรหมจริยาจารย์ วัดกะพังสุรินทร์ นั้น ก็มีฐานะเทียบเท่า "ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่หนใต้" เท่านั้น
นับระยะเวลารักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ตั้งแต่ยังเป็นธรรมรัตนากรกระทั่งเป็นพระพรหมจริยาจารย์ คือตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2549 ถึงวันที่ 20 ธ.ค. 2549 ก็เป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ตำแหน่งอันทรงอิทธิพลในคณะสงฆ์ไทยถูกปล่อยให้ว่างไว้ ให้มีเพียงรักษาการไปพลางๆ นับเป็นเหตุการณ์อันน่ามหัศจรรย์ในพันปีทีเดียว มองในแง่ดีก็อาจจะเป็นว่า พระสงฆ์ไทยนั้นหมดกิเลสตัณหา ไม่แก่งแย่งแข่งตำแหน่งกัน นั่นเป็นเรื่องเจ้าคณะใหญ่หนใต้ซึ่งจะขอผ่านไป
กลางเดือนตุลาคม 2553 โผพระราชาคณะประจำปีที่พิจารณาผ่านมหาเถรสมาคม เล็ดรอดออกมาสู่สื่อมวลชน จำนวน 65 รูป มีพลาดเพียงรูปเดียว คือ พระราชพัฒนโสภณ (มงคล เกสโร) เจ้าอาวาสวัดชิโนรสาราม กรุงเทพฯ ที่จะได้เลื่อนเป็น พระเทพสิริภิมณฑ์ แต่บุญท่านมาถึงเสียก่อน จึงมรณภาพไปในวันที่ 18 ต.ค. 2553 แถมมีบัญชี 2 เป็นกรณีพิเศษ แต่งตั้งพระครูพิมลสรภาณ (ณรงค์ เขมาราโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธมนต์วราจารย์ พระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ (วิ) โควต้าชั้นเทพที่พระเทพสิริภิมณฑ์จึงค้างไว้ไม่แต่งตั้ง
แต่ครั้นวันที่ 29 พ.ย. 2553 ก็มีข่าวจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ สถาปนา พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม และเจ้าคณะภาค 10 ขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นหิรัณยบัฏ) ในราชทินราม พระพรหมกวี เป็นกรณีพิเศษ
แปลว่า มหาเถรสมาคมตกสำรวจอีกแล้ว ทำบัญชีกันเป็นปี แต่ไม่มีชื่อพระธรรมปริยัติโสภณ พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรารภลงมาก็หน้าแตกกันเป็นแถวๆ เหมือนเมื่อคราวทรงทักท้วงบัญชีเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่ไม่มีชื่อพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.9) วัดทองนพคุณอยู่ด้วยนั่นแหละ มิน่าเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะเวียนมาซ้ำกับรอยเดิม
พระผู้มีความรู้ ทรงคุณธรรม ทำงานเพื่อพระศาสนา แต่ว่าไม่ซูฮกกรรมการมหาเถร ถูกพระเลขา-หน้าห้องของสมเด็จฯยืนบังหมด โผเจ้าคุณออกมาในแต่ละปีก็มีแต่วัดสระเกศ วัดชนะสงคราม วัดปากน้ำ วัดพิชัยญาติ ยืนเป็นโควต้าหลักเหมือน ส.ส.บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมือง ถ้ากูไม่ได้ก็อย่าหวังว่าวัดอื่นจะได้ ถ้าพระผู้ใหญ่พวกนี้มีอายุถึง 100 ปีขึ้นไป รับรองว่าพระเณรทั้งวัดได้เป็นเจ้าคุณหมด ท่านอาจจะหันไปตั้งหมา-แมวให้เป็นฐานานุกรมด้วยก็เป็นได้
แต่พระธรรมปริยัติโสภณคงจะมีบุญมากจริงๆ เพราะได้รองสมเด็จมาได้เพียง 2 เดือนกว่า ตกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ที่จังหวัดอุบลราชธานี หรือจะเป็นดังโหราศาสตร์นิรายนะที่ทำนายไว้ว่า
พฤหัสบดีดลจักร | ปะทะลัคนามี |
ทุรโทษธิบดี | และพยาธิจุรภัย |
ผิวสังฆราชา | ก็จะลาคณะไป |
บมิแม้นดุจไข | ก็จะผิดคติครู |
ในตรงนี้ท่านอธิบายว่า ถ้าดาวพฤหัสบดีเป็นศรีจรทับลัคน์ จะมีโชคใหญ่ แต่จะมีภัยตามมา ยิ่งโชคใหญ่มากภัยก็ยิ่งมาก โชคระดับรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระธรรมปริยัติโสภณได้มาโดยมิได้คาดหมายนั้นใหญ่เกินกว่าอะไรจะธารทรงเอาไว้ได้ สุดท้ายท่านก็จากไปแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่ในรถคันนั้นยังมีทั้งพระเณรตามไปอีกหลายรูป หรือจะเป็นอิทธิพลของดาวพฤหัสดังยกมาประดับไว้ในที่นี้
สมณศักดิ์รองสมเด็จฯหรือหิรัณยบัฏของพระพรหมกวีนั้นเป็นการโปรดเกล้าฯ โดยเฉพาะ แบบว่าน่าภูมิใจกว่าชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จฯ) ที่แย่งกันได้มาโดยระบบโควต้าเป็นไหนๆ แถมยังไม่สามารถจะสืบทอดอำนาจได้ เหลือก็แต่เจ้าคณะภาค 10 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองต้องว่างลง มหาเถรสมาคมก็ได้ตั้งให้พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส หรือวัดสามปลื้ม ในฐานะรองเจ้าคณะภาค 10 ผู้มีอาวุโสกว่าพระราชวชิรโมลี (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ ป.ธ.9) วัดสวนพลู ซึ่งเป็นรองภาคเดียวกัน ให้รักษาการแทน ซึ่งพระราชโมลีก็คงจะนอนฝันเห็นตราตั้งเจ้าคณะภาค 10 ถูกอัญเชิญมาประดับไว้เป็นเกียรติประวัติที่วัดสามปลื้มในไม่ช้านี้ พระราชโมลีรับบัญชาให้รักษาการเจ้าคณะภาค 10 ในวันที่ 20 ก.พ. 2554
แต่แล้วพระราชโมลีต้องฝันค้าง เพราะในอีกอาทิตย์หนึ่งเท่านั้น วันนั้นเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 มีเสียงเล็ดรอดออกมาจากห้องประชุมมหาเถรสมาคมวัดสระเกศว่า "สมเด็จเกี่ยวเสนอตั้งพระธรรมสิทธินายก หรือเจ้าคุณธงชัย ให้เป็นเจ้าคณะภาค 10" เรียบร้อยโรงเรียนวัดสระเกศไปแล้ว
แม้ว่าเจ้าคุณธงชัยจะมิใช่รองเจ้าคณะภาค 10 จึงไม่อยู่ในไลน์ที่จะได้รับตำแหน่งในภาคนี้ อยู่ที่วัดสระเกศก็มีตำแหน่งเป็นเพียงผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเป็นเลขานุการในสมเด็จพระพุฒาจารย์เท่านั้น ทั้งยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 อยู่แถวจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดโน่น ก็ตาม แต่เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านโปรดปราน จะให้ดำรงตำแหน่งในภาค 10 เพื่อเป็นหูเป็นตาแทนท่าน เจ้าคุณพรหมาและเจ้าคุณโสรัจจ์ก็ควรจะภูมิใจและอบอุ่นใจในความเมตตาของสมเด็จท่าน อย่าโวยวายไป สิ้นปีนี้จะให้เป็นชั้นเทพทั้งคู่ ดีไหม มีของชิ้นใหญ่ปลอบใจข้างหน้า อ้า..ฝันยาวเลย
สรุปว่าคณะภาค 10 ซึ่งแต่เดิมเป็นโควต้าในสายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นั้น ถูกวัดสระเกศฮุบไป ใช้เวลาปฏิบัติการเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น มืออาชีพยังเรียกพี่
ก็จบเกมในภาค 10 ไป
ต่อไปก็มาถึงคิวเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม บางลำพู และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 11 มี.ค. 2554 มีแคนดิเดทในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางอยู่หลายรูป แต่มหาเถรสมาคมก็แน่มาก ใช้เวลาแค่ 10 วัน ก็ได้ตัวเจ้าคณะใหญ่หนกลางรูปใหม่ ได้แก่ พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะภาค 1
พอพระพรหมโมลีขึ้นเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะภาค 1 ก็ว่างลง เพราะก้นเดียวจะนั่งเก้าอี้ทีละหลายตัวคงไม่ได้ ตัวหนึ่งเล็กตัวหนึ่งใหญ่มันกระไรอยู่ พระพรหมโมลีซึ่งมีอำนาจในหนกลางคุมภาค 1 ไว้ในย่าม จึงตวัดปากกาเซ็นตั้งให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม และรองเจ้าคณะภาค 1 ให้รักษาการในภาค 1 ไว้ก่อน รอฤกษ์ดีจะมีรางวัล วันที่ตั้งรักษาการภาค 1 คือ 11 เมษายน 2554
และแล้วพระพรหมโมลีก็ไม่ทำให้พระมหาสายชลผิดหวัง (แต่พระสงฆ์ซึ่งเป็นประชาชนผิดหวังมาก) เมื่อมติมหาเถรสมาคมวันที่ 20 เมษายน 2554 ประกาศออกมาว่า พระโสภณปริยัติเวที ได้เป็นเจ้าคณะภาค 1 หนุ่มน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะปีนี้พระโสภณปริยัติเวทีเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 45 บวชพระได้ 25 ปี และมีสมณศักดิ์เป็นเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญเท่านั้น การได้พาสชั้นขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 จึงถือว่าใหญ่กว่ารองสมเด็จหลายรูป ถ้าต่ำกว่านั้นยิ่งไม่ต้องมองบ่ามองไหล่เลย
ทีนี้เราจะมาเทียบเวลาดูว่า ในแต่ละตำแหน่งสำคัญที่ผ่านมานั้น มหาเถรสมาคมท่านใช้เวลาเท่าใดในการสรรหาและพิจารณาแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่ง
ตำแหน่ง | ว่างเมื่อ | แต่งตั้งใหม่เมื่อ | ใช้เวลาสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง |
เจ้าคณะใหญ่หนใต้ | 24 ธ.ค.2539 | 10 ม.ค.2550 | 1 ปี 17 วัน |
เจ้าคณะภาค 10 | 19 ก.พ.2554 | 28 ก.พ.2554 | 9 วัน |
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง | 11 มี.ค.2554 | 21 มี.ค.2554 | 10 วัน |
เจ้าคณะภาค 1 | 21 มี.ค.2554 | 20 เม.ย.2554 | 29 วัน |
ตารางเวลาข้างต้นนั้นเป็นตัววัดสำคัญของการพิจารณา ว่าทำไมบางตำแหน่งใช้เวลาในการสรรหาพระเถระผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมนานเป็นปี แต่บางตำแหน่งกลับใช้เวลาแค่ 9 วัน 10 วัน
เทียบตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้กับเจ้าคณะใหญ่หนกลางดูคู่แรกก่อน เพราะว่าเป็นตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เหมือนกัน หนใต้ใช้เวลา 1 ปี 17 วัน ส่วนหนกลางใช้เวลา 10 วัน ต่างกันแค่ 1 ปีกับ 7 วันเอง
คำตอบก็ง่ายๆ พระผู้ใหญ่กลัวปัญหาไฟไต้ไหม้มือ จึงไม่กล้าเป็น ถึงกับยกตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ให้แก่พระพรหมจริยาจารย์ไป แต่สำหรับเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้วเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพล มีอำนาจ และ "ไม่มีปัญหาเหมือนภาคใต้" ดังนั้นต้องรีบชิงตั้งพรรคพวกของตัวเองเข้าไปครองอำนาจไว้ ตัดปัญหาไม่ให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง
ต่อไปก็เชื่อเถิดว่า ถ้าเกิดปัญหาไฟเหนือ ไฟตะวันออกเฉียงเหนือ รับรองว่าไม่มีใครอาสาเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ พวกเขาจะเข้าไปก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์และไม่เกิดอันตรายเท่านั้น โลโก้เซฟตี้เฟิร์สท์ของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยยังอายกรรมการมหาเถรสมาคมเลย
ต่อมา เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ว่าง พระคุณท่านก็ใช้เวลาพิจารณาแค่ 9 วัน ลูกคิดจีนยังดีดไม่ทันเลย ว่ากันถึงขนาดว่าทำโผให้เซ็นกันตอนสองทุ่มอันเป็นเวลาวิกาลด้วยซ้ำ แถมด้วยเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งใช้เวลาแค่ 29 วัน ก็ได้รายชื่อไวเหมือนเนรมิตแล้ว
เห็นไหมว่าถ้าเป็นภาคใต้ละแหยง แต่พอภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ รีบยัดพรรคพวกเข้าไปกินตำแหน่งเชียว อ้างว่าเป็นคนดีมีความสามารถ อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา และ "ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับรูปนี้อีกแล้วในโลกนี้"
ขอถามทีเถิดขอรับพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จทั้งหลาย บรรดาถ้อยคำที่กระผมนำเสนอมานี้ มีคนมาเล่าให้ฟัง มันเข้าหูโดยไม่ต้องถาม ต่อหน้าเขาก็นบนอบ แต่ลับหลังเขาก็นินทา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเขามิได้เลื่อมใสเคารพศรัทธาในตัวของพวกท่านไง เขาสวมหน้ากากเข้าหาเพราะว่าพวกท่านชอบคนประจบสอพลอ แต่พอมหานรินทร์เขียนเตือน ก็โกรธหาว่าทำให้เสียหน้า แต่ว่ากิจการคณะสงฆ์และความมั่นคงของพระพุทธศาสนาซึ่งพวกท่านรับผิดชอบอยู่ในเวลานี้ ถูกปู้ยี่ปู้ยำไปหมดแล้ว กลับหูหนวกตาบอดมองไม่เห็นกัน ถามทีว่านี่มันเป็นอะไร บริหารกิจการพระศาสนากันแบบไหน ทำไมยิ่งบริหารยิ่งขาดทุนถึงกับล้มละลายทางศรัทธา
วันที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม มรณภาพลงไปนั้น หนังสือพิมพ์หลายเล่มได้ตีแผ่ชีวประวัติ รวมทั้งถ้อยคำที่ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า "เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้"
ซึ่งในวันที่ 30 มีนาคม 2554 ซึ่งพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) เข้ารับตราตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลางจากสมเด็จวัดสระเกศนั้น ท่านก็กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า "จะยึดปฏิปทาของสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นหลักในการทำหน้าที่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง" ซึ่งก็คือว่าจะทำงานหนัก ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และที่สำคัญก็คือ "คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนไม่ได้" ที่ว่าไม่ได้นั้นก็คือว่า จะไม่ยอมให้มีข้อบกพร่องเป็นช่องให้คนอื่นโจมตีได้ไม่ว่ากรณีใดๆ
แต่พอวันที่ 20 เมษายน 2554 พระพรหมโมลีก็ไม่ทำให้สมเด็จฯวัดชนะท่านผิดหวัง เมื่อนำเสนอชื่อพระมหาสายชล (พระโสภณปริยัติเวที) ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
เกิดเป็นเสียงโห่ฮาไปทั่วประเทศและทั่วโลก !
ศพสมเด็จพระมหาธีราจารย์ยังตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดชนะสงคราม ยังไม่มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ แต่ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา พระพรหมโมลี ท่านก็จัดการ "เผา" วัดชนะสงคราม เสียวายวอดแล้ว
มีบางคนกระซิบบอกผู้เขียนด้วยว่า ที่พระพรหมโมลีตั้งพระโสภณปริยัติเวทีขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 นั้น เพราะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านขอร้องไว้ก่อนตาย
ผู้เขียนเถียงทันทีว่า "สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านเป็นนักปราชญ์ คงไม่ทำพินัยกรรมโง่ๆ เช่นนั้นไว้หรอก และใครอ้างว่าท่านสั่งไว้แล้วใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ถือว่ากล่าวตู่ต่อสมเด็จฯท่าน"
แต่ความเชื่อของผู้เขียนก็เป็นเพียงความเชื่อ เพราะเคยเชื่อผิดๆ มาแล้ว เช่น เคยเชื่อว่าพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D.) นั้น ท่านเป็นนักปราชญ์ คงจะสามารถสอนสั่งพุทธศาสนิกชนด้วยอนุสาสนีตามที่พระพุทธองค์ทรงเสริญเสริญได้ แต่ที่ไหนได้ สุดท้ายท่านก็เอาแม่ชีมาสอนเรื่องดูกรรมแทน และเคยเชื่อว่า "ท่านจะพิจารณาหาพระเถระผู้ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทนท่าน ดังครูบาอาจารย์ในอดีตเคยกระทำ" แต่สุดท้ายท่านก็เลือกเอาพระเด็กๆ อ่อนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิขึ้นเป็นแทน ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเชื่ออะไรอีกต่อไป จึงอยากจะนำคำพูดข้างต้นนั้นไปถามพระโสภณปริยัติเวทีว่า ในบรรดาพินัยกรรมของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ทั้งสองฉบับ ฉบับไหนเป็นของจริงฉบับไหนเป็นของปลอม ได้แก่
พินัยกรรมฉบับที่ 1 | ที่พระพรหมโมลีตั้งพระโสภณปริยัติเวทีขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 นั้น เพราะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านขอร้องไว้ก่อนตาย |
พินัยกรรมฉบับที่ 2 | "เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้" |
ถ้าพินัยกรรมฉบับที่ 1 เป็นของจริง ฉบับที่ 2 เป็นของปลอม ก็นิมนต์พระโสภณปริยัติเวทีเป็นเจ้าคณะภาค 1 ต่อไปเถิดครับ
ถ้าพินัยกรรมฉบับที่ 1 เป็นของปลอม แต่ฉบับที่ 2 เป็นของจริง ก็ขอให้พระโสภณปริยัติเวที พิจารณาตัวเองได้แล้ว
พิจารณาลาออกเสียแต่วันนี้ จะสง่างาม เป็นการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของสมเด็จพระมหาธีราจารย์และวัดชนะสงคราม อย่าให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านมาเสื่อมเสียในตอนก่อนเผาจริงเลย
|