วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556



ก็จะเห็นได้ว่า "ครอบจักรวาล" แถมยังกว้างไกลไปถึงต่างประเทศหรือทุกมุมโลก เพราะปัจจุบันนั้น กรมการศาสนามีสมาชิกวิสามัญอยู่มากมายหลายประเทศ สมาชิกที่ว่านั้นได้แก่ พระสงฆ์และคฤหัสถ์ผู้ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักรทองคำ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ประมาณว่ามีถึง 3,000 รูป/คน และจะเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 200 รูป/คน ในทุกปี บุคคลเหล่านี้เป็นระดับหัวหน้าของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อถูกดึงมาเป็นภาคีของพุทธสภา ย่อมจะมีพลังทั้งทางด้านสติปัญญาและการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีพระสงฆ์หลายรูปที่เรียกได้ว่า "เป็นพระนอกมหาเถร" คือถึงแม้จะอยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ไม่มีตำแหน่งในทางการสงฆ์ หากแต่มีบทบาทในการทำงานเป็นการส่วนตัวจนโดดเด่น ดังนั้น ถึงแม้จะมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ไม่มีพื้นที่ทำงานในมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมจะพิจารณายศถาบรรดาศักดิ์ให้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นผู้ช่วยหรือเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ทั้งนี้ต้องมีทีท่าว่าพินอบพิเทาเข้าไปสนองงานคณะสงฆ์ผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองในระดับสูงของมหาเถรสมาคมด้วย จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติเป็นเบื้องต้นในการพิจารณาให้สมณศักดิ์ของมหาเถรสมาคม กลุ่มพระสงฆ์เหล่านั้นจะเรียกว่าบุคคลชายขอบก็ใช่ที่ เพราะทำงานพระศาสนาเหมือนกัน อาจจะได้ผลไม่ด้อยหรืออาจจะมากกว่าพระสงฆ์ในสังกัดของมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำไป แต่เพราะมหาเถรสมาคมได้วางนโยบายโดยพฤตินัยว่า "จะต้องยินยอมเป็นข้ารับใช้และไม่มีปากมีเสียงใดๆ จึงจะพิจารณาสมณศักดิ์ให้" เรื่องนี้มิได้มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่ว่ามหาเถรสมาคมได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเอง เพราะถือว่าตัวเองมีอำนาจในการบริหารกิจการพระศาสนา โดยมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นใบเบิกทางของการใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน พระสงฆ์เหล่านั้นย่อมจะใช้เวทีเปิดที่ชื่อว่า "พุทธสภา" แห่งนี้เป็นที่ทำงานแข่งขันกับมหาเถรสมาคม แม้จะไม่ประกาศแยกตัว แต่ก็ไม่ร่วม เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเส้นขนาน นานๆ เข้าก็อาจจะแซงหน้ามหาเถรสมาคมได้

ในอดีตนั้นเคยมีการตั้งองค์กรขึ้นมาแข่งกับมหาเถรสมาคม (คณะสงฆ์เดิม) เช่น
1. การตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนั้นมีการต่อต้านจากพระในนิกายเดิม (สยามวงศ์) ไม่ยอมให้มีนิกายใหม่ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง พระสงฆ์นิกายเดิมจึงไม่สามารถจะต้านทานได้ พระสงฆ์ราชาคณะที่มีอุดมการณ์ต่างทยอยสึกกันไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการ "ห้ามพระราชาคณะสึก" ในปี พ.ศ.2397 มีความว่า

มีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ให้มีหมายประกาศไป แก่พระราชาคณะเปรียญทั้งปวงให้รู้ว่า
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระราชาคณะ-เปรียญสึกน้อย ไม่มากนัก ในเดี๋ยวนี้พระราชาคณะเปรียญสึกมาก มีบาญชีได้ถึง 60 เศษ แปลกกว่าแต่ก่อน
ตั้งแต่นี้ต่อไปถ้าพระราชาคณะ-เปรียญสึกออก จะโปรดฯ ให้เป็นไพร่หลวงโรงพิมพ์แล้วจะได้จำไว้กว่าจะได้นายประกัน เมื่อได้นายประกันแล้ว จะให้เข้าเดือนทำการพิมพ์ ถ้าไปเดินกับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตำแหน่งใดๆ ให้มากราบทูลขอก็มิได้พระราชทานเลย แล้วจะลงพระราชอาญาแก่ผู้ที่ไปเดิน 50 ที ขอพระราชาคณะเปรียญทั้งปวง จงได้รู้ดังคำประกาศนี้ทั่วทุกๆ องค์ตามรับสั่ง..”

นี่คือการใช้พระราชอำนาจบีบให้พระสงฆ์นิกายเดิมต้องยินยอมรับการเกิดขึ้นของคณะธรรมยุติกนิกาย และในรัชกาลต่อมา (ร.5) เมื่อทรงประกาศใช้กฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 จึงมีการเพิ่มเติมคณะธรรมยุติกนิกายเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมหาเถรสมาคม แน่นอนว่าคณะธรรมยุตเกิดก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกได้ว่า "นิกายเถื่อน" แต่สมัยนั้นใครจะกล้าเรียกเช่นนั้น เพราะแค่ลาสิกขาก็ยังต้องติดคุกติดตะราง สรุปว่า ธรรมยุตแจ้งเกิดสำเร็จ แถมยังสามารถขี่มหานิกายได้อีก เพราะอาศัยพระราชอัธยาศัยทรงเลือกให้พระสงฆ์นิกายธรรมยุตขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องนานถึง 80 ปี จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม มหานิกาย จึงมีโอกาสได้ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2481
http://www.alittlebuddha.com/html/The%20Vision%20of%20P.M.Narin/The%20Vision%20of%20Phramaha%20Narin%20132.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น