วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556



ก็จะเห็นได้ว่า "ครอบจักรวาล" แถมยังกว้างไกลไปถึงต่างประเทศหรือทุกมุมโลก เพราะปัจจุบันนั้น กรมการศาสนามีสมาชิกวิสามัญอยู่มากมายหลายประเทศ สมาชิกที่ว่านั้นได้แก่ พระสงฆ์และคฤหัสถ์ผู้ได้รับรางวัลเสมาธรรมจักรทองคำ ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ประมาณว่ามีถึง 3,000 รูป/คน และจะเพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 200 รูป/คน ในทุกปี บุคคลเหล่านี้เป็นระดับหัวหน้าของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศและทั่วโลก เมื่อถูกดึงมาเป็นภาคีของพุทธสภา ย่อมจะมีพลังทั้งทางด้านสติปัญญาและการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีพระสงฆ์หลายรูปที่เรียกได้ว่า "เป็นพระนอกมหาเถร" คือถึงแม้จะอยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม แต่ไม่มีตำแหน่งในทางการสงฆ์ หากแต่มีบทบาทในการทำงานเป็นการส่วนตัวจนโดดเด่น ดังนั้น ถึงแม้จะมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ไม่มีพื้นที่ทำงานในมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมจะพิจารณายศถาบรรดาศักดิ์ให้ก็ต่อเมื่อต้องเป็นผู้ช่วยหรือเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นเจ้าคณะพระสังฆาธิการ ทั้งนี้ต้องมีทีท่าว่าพินอบพิเทาเข้าไปสนองงานคณะสงฆ์ผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองในระดับสูงของมหาเถรสมาคมด้วย จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติเป็นเบื้องต้นในการพิจารณาให้สมณศักดิ์ของมหาเถรสมาคม กลุ่มพระสงฆ์เหล่านั้นจะเรียกว่าบุคคลชายขอบก็ใช่ที่ เพราะทำงานพระศาสนาเหมือนกัน อาจจะได้ผลไม่ด้อยหรืออาจจะมากกว่าพระสงฆ์ในสังกัดของมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำไป แต่เพราะมหาเถรสมาคมได้วางนโยบายโดยพฤตินัยว่า "จะต้องยินยอมเป็นข้ารับใช้และไม่มีปากมีเสียงใดๆ จึงจะพิจารณาสมณศักดิ์ให้" เรื่องนี้มิได้มีในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่ว่ามหาเถรสมาคมได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นเอง เพราะถือว่าตัวเองมีอำนาจในการบริหารกิจการพระศาสนา โดยมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นใบเบิกทางของการใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน พระสงฆ์เหล่านั้นย่อมจะใช้เวทีเปิดที่ชื่อว่า "พุทธสภา" แห่งนี้เป็นที่ทำงานแข่งขันกับมหาเถรสมาคม แม้จะไม่ประกาศแยกตัว แต่ก็ไม่ร่วม เรียกง่ายๆ ว่าเป็นเส้นขนาน นานๆ เข้าก็อาจจะแซงหน้ามหาเถรสมาคมได้

ในอดีตนั้นเคยมีการตั้งองค์กรขึ้นมาแข่งกับมหาเถรสมาคม (คณะสงฆ์เดิม) เช่น
1. การตั้งคณะธรรมยุติกนิกายขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนั้นมีการต่อต้านจากพระในนิกายเดิม (สยามวงศ์) ไม่ยอมให้มีนิกายใหม่ แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง พระสงฆ์นิกายเดิมจึงไม่สามารถจะต้านทานได้ พระสงฆ์ราชาคณะที่มีอุดมการณ์ต่างทยอยสึกกันไปเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราชโองการ "ห้ามพระราชาคณะสึก" ในปี พ.ศ.2397 มีความว่า

มีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์ ให้มีหมายประกาศไป แก่พระราชาคณะเปรียญทั้งปวงให้รู้ว่า
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระราชาคณะ-เปรียญสึกน้อย ไม่มากนัก ในเดี๋ยวนี้พระราชาคณะเปรียญสึกมาก มีบาญชีได้ถึง 60 เศษ แปลกกว่าแต่ก่อน
ตั้งแต่นี้ต่อไปถ้าพระราชาคณะ-เปรียญสึกออก จะโปรดฯ ให้เป็นไพร่หลวงโรงพิมพ์แล้วจะได้จำไว้กว่าจะได้นายประกัน เมื่อได้นายประกันแล้ว จะให้เข้าเดือนทำการพิมพ์ ถ้าไปเดินกับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยตำแหน่งใดๆ ให้มากราบทูลขอก็มิได้พระราชทานเลย แล้วจะลงพระราชอาญาแก่ผู้ที่ไปเดิน 50 ที ขอพระราชาคณะเปรียญทั้งปวง จงได้รู้ดังคำประกาศนี้ทั่วทุกๆ องค์ตามรับสั่ง..”

นี่คือการใช้พระราชอำนาจบีบให้พระสงฆ์นิกายเดิมต้องยินยอมรับการเกิดขึ้นของคณะธรรมยุติกนิกาย และในรัชกาลต่อมา (ร.5) เมื่อทรงประกาศใช้กฎหมายคณะสงฆ์ที่เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 จึงมีการเพิ่มเติมคณะธรรมยุติกนิกายเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการมหาเถรสมาคม แน่นอนว่าคณะธรรมยุตเกิดก่อนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เรียกได้ว่า "นิกายเถื่อน" แต่สมัยนั้นใครจะกล้าเรียกเช่นนั้น เพราะแค่ลาสิกขาก็ยังต้องติดคุกติดตะราง สรุปว่า ธรรมยุตแจ้งเกิดสำเร็จ แถมยังสามารถขี่มหานิกายได้อีก เพราะอาศัยพระราชอัธยาศัยทรงเลือกให้พระสงฆ์นิกายธรรมยุตขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างต่อเนื่องนานถึง 80 ปี จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 สมเด็จพระวันรัต (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม มหานิกาย จึงมีโอกาสได้ขึ้นครองตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2481
http://www.alittlebuddha.com/html/The%20Vision%20of%20P.M.Narin/The%20Vision%20of%20Phramaha%20Narin%20132.html

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร



พินัยกรรมของสมเด็จพระมหาธีราจารย์



"เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้"
สมเด็จพระมหาธีราจารย์
วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร

วัน-เวลาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
16 กุมภาพันธ์ 2539 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ ส่งผลให้ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางว่างลง
ขณะนั้น สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้มาตั้งแต่ พ.ศ.2534 แต่มีการโยกสลับตำแหน่ง โดยให้พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ไปดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง
24 ธันวาคม 2549พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร เจ้าคณะใหญ่หนใต้ มรณภาพ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ว่างลง
10 มกราคม 2550มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะภาค 18 ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้
5 ธันวาคม 2550พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง รักษาการเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระพรหมจริยาจารย์
20 ธันวาคม 2550มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง เจ้าคณะภาค 18 และรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้
19 กุมภาพันธ์ 2554พระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เจ้าคณะภาค 10 ประสบอุบัติเหตุมรณภาพ
20 กุมภาพันธ์ 2554มหาเถรสมาคมมีมติตั้งให้พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักวรรดิราชาวาส รองเจ้าคณะภาค 10 เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10
28 กุมภาพันธ์ 2554มหาเถรสมาคม โดยการเสนอของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสระเกศเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ลงมติแต่งตั้งให้พระธรรมสิทธินายก (ธงชัย สุขญาโณ น.ธ.เอก พธ.บ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10
11 มีนาคม 2554สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ปฺ.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพ
21 มีนาคม 2554มหาเถรสมาคม แต่งตั้งให้พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะภาค 1 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางแทนสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ส่งผลให้ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 ว่างลง
11 เมษายน 2554พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 45 พรรษา 25 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ให้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
20 เมษายน 2554พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เสนอต่อมหาเถรสมาคมให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) อายุ 45 พรรษา 25 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม รองเจ้าคณะภาค 1 ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1
พร้อมกันนั้น ได้เสนอแต่งตั้งให้พระศรีศาสนวงศ์ (มีชัย วีรปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดหงษ์รัตนาราม อายุ 45 พรรษา 25 ให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 1 อีกรูปหนึ่งด้วย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นนี้ ผู้ที่ไม่สนใจหรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์ของพระสงฆ์และโครงสร้างการบริหารกิจการของคณะสงฆ์ไทย จะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แม้แต่พระสงฆ์สามเณรส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีสอนในห้องเรียน ดังนั้นจึงต้องอธิบาย
ในบรรดาเจ้าคณะภาค ทั้ง 18 ภาคของคณะสงฆ์ไทยเรานั้น ภาค 1 ถือว่าสำคัญสุดยอด เพราะคุมโซนกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงไว้ฉันใด ในบรรดาเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ ทั้ง 4 หน คือ หนกลาง หนเหนือ หนตะวันออก และหนใต้ หนกลางย่อมจะสำคัญกว่าทุกหน ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา-เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มรณภาพลงไปในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 นั้น ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางได้ว่างลง ขณะนั้น มีพระมหาเถระซึ่งเหมาะสมในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ก็คือ พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณฺโณ ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร แต่เกิดการสับเปลี่ยนตำแหน่งกันขึ้น คือสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ได้โยกตัวเองมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ส่วนพระพรหมจริยาจารย์นั้นถูกโยกให้ไปเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้แทน พอถึงวันที่ 24 ธ.ธ. 2549 พระพรหมจริยาจารย์ ก็มรณภาพ

ขณะนั้น เกิดปัญหาความรุนแรงขึ้นในภาคใต้ พระสงฆ์ถูกปล้นฆ่าถึงในวัด ไม่สามารถจะออกหาอาหารบิณฑบาตได้ตามปรกติ ต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารถืออาวุธคอยคุ้มกันไปทุกอย่างก้าว แม้ว่าตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้จะว่างลง แต่ไม่มีพระสงฆ์ในภาคกลางรูปไหนอยากจะดำรงตำแหน่งอันยิ่งใหญ่นี้ ทั้งนี้เพราะกลัวไฟใต้ไหม้มือนั่นเอง ทั้ง ๆ ที่โดยประเพณีปฏิบัติของมหาเถรสมาคมแต่เดิมมานั้น สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระราชาคณะก็ดี ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ ก็ดี จะไม่ยอมแต่งตั้งพระสงฆ์ในต่างจังหวัด โดยอ้างว่าเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าประชุมมหาเถรสมาคม แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือการกุมอำนาจไว้ในส่วนกลางคือกรุงเทพมหานครเพียงแห่งเดียว มหาเถรสมาคมจึงต้องแต่งตั้งให้พระธรรมรัตนากร (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง ตำแหน่งเจ้าคณะภาค 18 ให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งจ้าคณะใหญ่หนใต้ เพื่อใช้เวลาสรรหาผู้เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยมหาเถรสมาคมได้สมนาคุณพระธรรมรัตนากรด้วยการเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นรองสมเด็จที่ "พระพรหมจริยาจารย์" ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550

ตกวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2550 มหาเถรสมาคมจึงหาตัวพระเถระผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ได้แล้ว จึงประกาศแต่งตั้งว่าได้แก่ พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุโธ ป.ธ.7) วัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง นั่นเอง
ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า มหาเถรสมาคมหมดปัญญาจะหาพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถในส่วนกลาง จึงจำใจต้องแต่งตั้งให้พระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) เป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เหมือนปล่อยเค็กให้หลุดจากมือไปต่อหน้าต่อตา
ปัญหายังตามมาอีก เนื่องเพราะตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย ซึ่งเจ้าคณะใหญ่จะต้องเข้าร่วมประชุมมหาเถรสมาคมด้วย ดังนั้น ถ้าเจ้าคณะใหญ่มิใช่สมเด็จพระราชาคณะแล้วซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งแล้ว ก็จะต้องได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม มิฉะนั้นก็เข้าประชุมไม่ได้
ถ้าพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) เป็นเจ้าอาวาสวัดในกรุงเทพมหานคร ก็คงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมด้วย แต่เพราะอยู่ไกลถึงจังหวัดตรัง แม้จะแต่งตั้งก็คงไม่สามารถจะมาประชุมในกรุงเทพฯได้ จะเดินทางไปๆ มาๆ ก็ยิ่งลำบาก การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ก็เพื่อให้คุมไฟใต้ ถ้าทิ้งพื้นที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ บ่อยๆ งานในพื้นที่บกพร่อง ก็จะไม่สมประสงค์ของการแต่งตั้ง
แต่ถึงกระนั้น มหาเถรสมาคมก็ต้องรับทราบรายงานการปฏิบัติศาสนกิจในภาคใต้อยู่ดี แล้วทีนี้จะทำไฉน ในเมื่อพระพรหมจริยาจารย์เข้าประชุมมหาเถรสมาคมไม่ได้ ที่ว่าไม่ได้นั้นคือโดยวาระปกติ แต่ถ้าจะรายงานการสถานการณ์ไฟใต้ให้มหาเถรสมาคมรับทราบ ก็อาจจะได้รับอนุญาตให้เข้าประชุมได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งคงจะไม่บ่อยนัก ช่องทางเดียวที่พระพรหมจริยาจารย์ ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนใต้จะรายงานผลการปฏิบัติงานให้เข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้โดยปกติ ก็คือ รายงานผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประธานมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่งอีกด้วย
แต่พระพรหมจริยาจารย์นั้นมีความสนิทชิดเชื้อในสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ถ้าจะรายงานผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ก็คงจะทำแบบเป็นทางการ แต่ถ้าจะรายงานแบบกันเองก็ต้องผ่านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรืออีกนัยหนึ่ง เวลานี้มีผู้มีบารมีเหนือเจ้าคณะใหญ่หนใต้อยู่ถึง 2 รูป คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
ทีนี้ เมื่อมองดูโครงสร้างทางด้านการปกครองของคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายมาแต่เดิม ก็จะเห็นว่าเจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ นั้นแยกอำนาจกันปกครอง ไม่ขึ้นแก่กันและกัน แต่ครั้นพระพรหมจริยาจารย์ได้เป็นเจ้าคณะใหญ่ แต่ไม่ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม จึงไม่มีสิทธิ์ออกเสียงในมหาเถรสมาคม ทั้งที่มีอำนาจมากกว่ากรรมการมหาเถรสมาคมส่วนใหญ่อีกด้วย (เว้นแต่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง หนเหนือหนและตะวันออก) การที่พระพรหมจริยาจารย์ต้องรายงานการปฏิบัติงานในส่วนของเจ้าคณะใหญ่หนใต้ ผ่านสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกอีกตำแหน่งนั้น แสดให้เห็นว่ามีการรวบอำนาจของ 2 เจ้าคณะใหญ่เข้าไว้ในคนเดียวกันนั่นคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือกล่าวให้ชัดก็คือว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ในปัจจุบัน นอกจากจะดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก โดยนิตินัยแล้ว ก็ยังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้โดยพฤตินัยอีกด้วย

บางคนก็ว่าพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด) วัดกะพังสุรินทร์ ได้อำนาจเป็นเจ้าคณะใหญ่หนใต้เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์กินรวบไว้หมด นึกว่าแบ่งแยกแล้วจะปกครอง แต่ที่ไหนได้ มองให้ลึกลงไปกว่านั้นก็จะเห็นว่า เวลานี้คณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกายยุบโซนการปกครองลงเหลือเพียง 3 หนเท่านั้น คือ หนกลาง หนเหนือ และหนตะวันออกเฉียงเหนือ+หนใต้ หนสุดท้ายนี้เป็นของสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ ส่วนพระพรหมจริยาจารย์ วัดกะพังสุรินทร์ นั้น ก็มีฐานะเทียบเท่า "ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่หนใต้" เท่านั้น

นับระยะเวลารักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ตั้งแต่ยังเป็นธรรมรัตนากรกระทั่งเป็นพระพรหมจริยาจารย์ คือตั้งแต่วันที่ 24 ธ.. 2549 ถึงวันที่ 20 ธ.ค. 2549 ก็เป็นเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่ตำแหน่งอันทรงอิทธิพลในคณะสงฆ์ไทยถูกปล่อยให้ว่างไว้ ให้มีเพียงรักษาการไปพลางๆ นับเป็นเหตุการณ์อันน่ามหัศจรรย์ในพันปีทีเดียว มองในแง่ดีก็อาจะเป็นว่า พระสงฆ์ไทยนั้นหมดกิเลสตัณหา ไม่แก่งแย่งแข่งตำแหน่งกัน นั่นเป็นเรื่องเจ้าคณะใหญ่หนใต้ซึ่งจะขอผ่านไป
กลางเดือนตุลาคม 2553 โผพระราชาคณะประจำปีที่พิจารณาผ่านมหาเถรสมาคม เล็ดรอดออกมาสู่สื่อมวลชน จำนวน 65 รูป มีพลาดเพียงรูปเดียว คือ พระราชพัฒนโสภณ  (มงคล เกสโร) เจ้าอาวาสวัดชิโนรสาราม กรุงเทพฯ ที่จะได้เลื่อนเป็น พระเทพสิริภิมณฑ์ แต่บุญท่านมาถึงเสียก่อน จึงมรณภาพไปในวันที่ 18 ต.ค. 2553 แถมมีบัญชี 2 เป็นกรณีพิเศษ แต่งตั้งพระครูพิมลสรภาณ (ณรงค์ เขมาราโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธมนต์วราจารย์ พระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ (วิ) โควต้าชั้นเทพที่พระเทพสิริภิมณฑ์จึงค้างไว้ไม่แต่งตั้ง

แต่ครั้นวันที่ 29 พ.ย. 2553 ก็มีข่าวจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดฯ สถาปนา พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม และเจ้าคณะภาค 10 ขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นหิรัณยบัฏ) ในราชทินราม พระพรหมกวี เป็นกรณีพิเศษ

แปลว่า มหาเถรสมาคมตกสำรวจอีกแล้ว ทำบัญชีกันเป็นปี แต่ไม่มีชื่อพระธรรมปริยัติโสภณ พอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปรารภลงมาก็หน้าแตกกันเป็นแถวๆ เหมือนเมื่อคราวทรงทักท้วงบัญชีเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่ไม่มีชื่อพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน ป.ธ.9) วัดทองนพคุณอยู่ด้วยนั่นแหละ มิน่าเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะเวียนมาซ้ำกับรอยเดิม

พระผู้มีความรู้ ทรงคุณธรรม ทำงานเพื่อพระศาสนา แต่ว่าไม่ซูฮกกรรมการมหาเถร ถูกพระเลขา-หน้าห้องของสมเด็จฯยืนบังหมด โผเจ้าคุณออกมาในแต่ละปีก็มีแต่วัดสระเกศ วัดชนะสงคราม วัดปากน้ำ วัดพิชัยญาติ ยืนเป็นโควต้าหลักเหมือน ส.ส.บัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมือง ถ้ากูไม่ได้ก็อย่าหวังว่าวัดอื่นจะได้ ถ้าพระผู้ใหญ่พวกนี้มีอายุถึง 100 ปีขึ้นไป รับรองว่าพระเณรทั้งวัดได้เป็นเจ้าคุณหมด ท่านอาจจะหันไปตั้งหมา-แมวให้เป็นฐานานุกรมด้วยก็เป็นได้
แต่พระธรรมปริยัติโสภณคงจะมีบุญมากจริงๆ เพราะได้รองสมเด็จมาได้เพียง 2 เดือนกว่า ตกวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ที่จังหวัดอุบลราชธานี หรือจะเป็นดังโหราศาสตร์นิรายนะที่ทำนายไว้ว่า

พฤหัสบดีดลจักรปะทะลัคนามี
ทุรโทษธิบดี และพยาธิจุรภัย
ผิวสังฆราชาก็จะลาคณะไป
บมิแม้นดุจไขก็จะผิดคติครู

ในตรงนี้ท่านอธิบายว่า ถ้าดาวพฤหัสบดีเป็นศรีจรทับลัคน์ จะมีโชคใหญ่ แต่จะมีภัยตามมา ยิ่งโชคใหญ่มากภัยก็ยิ่งมาก โชคระดับรองสมเด็จพระราชาคณะที่พระธรรมปริยัติโสภณได้มาโดยมิได้คาดหมายนั้นใหญ่เกินกว่าอะไรจะธารทรงเอาไว้ได้ สุดท้ายท่านก็จากไปแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่ในรถคันนั้นยังมีทั้งพระเณรตามไปอีกหลายรูป หรือจะเป็นอิทธิพลของดาวพฤหัสดังยกมาประดับไว้ในที่นี้
สมณศักดิ์รองสมเด็จฯหรือหิรัณยบัฏของพระพรหมกวีนั้นเป็นการโปรดเกล้าฯ โดยเฉพาะ แบบว่าน่าภูมิใจกว่าชั้นสุพรรณบัฏ (สมเด็จฯ) ที่แย่งกันได้มาโดยระบบโควต้าเป็นไหนๆ แถมยังไม่สามารถจะสืบทอดอำนาจได้ เหลือก็แต่เจ้าคณะภาค 10 ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการปกครองต้องว่างลง มหาเถรสมาคมก็ได้ตั้งให้พระราชโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส หรือวัดสามปลื้ม ในฐานะรองเจ้าคณะภาค 10 ผู้มีอาวุโสกว่าพระราชวชิรโมลี (โสรัจจ์ มหาโสรจฺโจ ป.ธ.9) วัดสวนพลู ซึ่งเป็นรองภาคเดียวกัน ให้รักษาการแทน ซึ่งพระราชโมลีก็คงจะนอนฝันเห็นตราตั้งเจ้าคณะภาค 10 ถูกอัญเชิญมาประดับไว้เป็นเกียรติประวัติที่วัดสามปลื้มในไม่ช้านี้ พระราชโมลีรับบัญชาให้รักษาการเจ้าคณะภาค 10 ในวันที่ 20 ก.พ. 2554

แต่แล้วพระราชโมลีต้องฝันค้าง เพราะในอีกอาทิตย์หนึ่งเท่านั้น วันนั้นเป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 มีเสียงเล็ดรอดออกมาจากห้องประชุมมหาเถรสมาคมวัดสระเกศว่า "สมเด็จเกี่ยวเสนอตั้งพระธรรมสิทธินายก หรือเจ้าคุณธงชัย ให้เป็นเจ้าคณะภาค 10" เรียบร้อยโรงเรียนวัดสระเกศไปแล้ว

แม้ว่าเจ้าคุณธงชัยจะมิใช่รองเจ้าคณะภาค 10 จึงไม่อยู่ในไลน์ที่จะได้รับตำแหน่งในภาคนี้ อยู่ที่วัดสระเกศก็มีตำแหน่งเป็นเพียงผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเป็นเลขานุการในสมเด็จพระพุฒาจารย์เท่านั้น ทั้งยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 อยู่แถวจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดโน่น ก็ตาม แต่เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านโปรดปราน จะให้ดำรงตำแหน่งในภาค 10 เพื่อเป็นหูเป็นตาแทนท่าน เจ้าคุณพรหมาและเจ้าคุณโสรัจจ์ก็ควรจะภูมิใจและอบอุ่นใจในความเมตตาของสมเด็จท่าน อย่าโวยวายไป สิ้นปีนี้จะให้เป็นชั้นเทพทั้งคู่ ดีไหม มีของชิ้นใหญ่ปลอบใจข้างหน้า อ้า..ฝันยาวเลย
สรุปว่าคณะภาค 10 ซึ่งแต่เดิมเป็นโควต้าในสายวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นั้น ถูกวัดสระเกศฮุบไป ใช้เวลาปฏิบัติการเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น มืออาชีพยังเรียกพี่
ก็จบเกมในภาค 10 ไป

ต่อไปก็มาถึงคิวเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เมื่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม บางลำพู และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ถึงแก่มรณภาพลงในวันที่ 11 มี.ค. 2554 มีแคนดิเดทในตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลางอยู่หลายรูป แต่มหาเถรสมาคมก็แน่มาก ใช้เวลาแค่ 10 วัน ก็ได้ตัวเจ้าคณะใหญ่หนกลางรูปใหม่ ได้แก่ พระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะภาค 1

พอพระพรหมโมลีขึ้นเป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าคณะภาค 1 ก็ว่างลง เพราะก้นเดียวจะนั่งเก้าอี้ทีละหลายตัวคงไม่ได้ ตัวหนึ่งเล็กตัวหนึ่งใหญ่มันกระไรอยู่ พระพรหมโมลีซึ่งมีอำนาจในหนกลางคุมภาค 1 ไว้ในย่าม จึงตวัดปากกาเซ็นตั้งให้พระโสภณปริยัติเวที (สายชล ฐานวุฑฺโฒ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม และรองเจ้าคณะภาค 1 ให้รักษาการในภาค 1 ไว้ก่อน รอฤกษ์ดีจะมีรางวัล วันที่ตั้งรักษาการภาค 1 คือ 11 เมษายน 2554
และแล้วพระพรหมโมลีก็ไม่ทำให้พระมหาสายชลผิดหวัง (แต่พระสงฆ์ซึ่งเป็นประชาชนผิดหวังมาก) เมื่อมติมหาเถรสมาคมวันที่ 20 เมษายน 2554 ประกาศออกมาว่า พระโสภณปริยัติเวที ได้เป็นเจ้าคณะภาค 1 หนุ่มน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย เพราะปีนี้พระโสภณปริยัติเวทีเพิ่งจะมีอายุได้เพียง 45 บวชพระได้ 25 ปี และมีสมณศักดิ์เป็นเพียงพระราชาคณะชั้นสามัญเท่านั้น การได้พาสชั้นขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 จึงถือว่าใหญ่กว่ารองสมเด็จหลายรูป ถ้าต่ำกว่านั้นยิ่งไม่ต้องมองบ่ามองไหล่เลย
ทีนี้เราจะมาเทียบเวลาดูว่า ในแต่ละตำแหน่งสำคัญที่ผ่านมานั้น มหาเถรสมาคมท่านใช้เวลาเท่าใดในการสรรหาและพิจารณาแต่งตั้งพระสังฆาธิการให้ดำรงตำแหน่ง

ตำแหน่งว่างเมื่อ แต่งตั้งใหม่เมื่อใช้เวลาสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง
เจ้าคณะใหญ่หนใต้24 ธ.ค.2539 10 ม.ค.25501 ปี 17 วัน
เจ้าคณะภาค 10 19 ก.พ.255428 ก.พ.25549 วัน
เจ้าคณะใหญ่หนกลาง11 มี.ค.255421 มี.ค.2554 10 วัน
เจ้าคณะภาค 121 มี.ค.2554 20 เม.ย.255429 วัน

ตารางเวลาข้างต้นนั้นเป็นตัววัดสำคัญของการพิจารณา ว่าทำไมบางตำแหน่งใช้เวลาในการสรรหาพระเถระผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมนานเป็นปี แต่บางตำแหน่งกลับใช้เวลาแค่ 9 วัน 10 วัน

เทียบตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้กับเจ้าคณะใหญ่หนกลางดูคู่แรกก่อน เพราะว่าเป็นตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เหมือนกัน หนใต้ใช้เวลา 1 ปี 17 วัน ส่วนหนกลางใช้เวลา 10 วัน ต่างกันแค่ 1 ปีกับ 7 วันเอง
คำตอบก็ง่ายๆ พระผู้ใหญ่กลัวปัญหาไฟไต้ไหม้มือ จึงไม่กล้าเป็น ถึงกับยกตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ให้แก่พระพรหมจริยาจารย์ไป แต่สำหรับเจ้าคณะใหญ่หนกลางแล้วเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพล มีอำนาจ และ "ไม่มีปัญหาเหมือนภาคใต้" ดังนั้นต้องรีบชิงตั้งพรรคพวกของตัวเองเข้าไปครองอำนาจไว้ ตัดปัญหาไม่ให้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซง
ต่อไปก็เชื่อเถิดว่า ถ้าเกิดปัญหาไฟเหนือ ไฟตะวันออกเฉียงเหนือ รับรองว่าไม่มีใครอาสาเป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ พวกเขาจะเข้าไปก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์และไม่เกิดอันตรายเท่านั้น โลโก้เซฟตี้เฟิร์สท์ของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยยังอายกรรมการมหาเถรสมาคมเลย

ต่อมา เมื่อตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 ว่าง พระคุณท่านก็ใช้เวลาพิจารณาแค่ 9 วัน ลูกคิดจีนยังดีดไม่ทันเลย ว่ากันถึงขนาดว่าทำโผให้เซ็นกันตอนสองทุ่มอันเป็นเวลาวิกาลด้วยซ้ำ แถมด้วยเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งใช้เวลาแค่ 29 วัน ก็ได้รายชื่อไวเหมือนเนรมิตแล้ว

เห็นไหมว่าถ้าเป็นภาคใต้ละแหยง แต่พอภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ รีบยัดพรรคพวกเข้าไปกินตำแหน่งเชียว อ้างว่าเป็นคนดีมีความสามารถ อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา และ "ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับรูปนี้อีกแล้วในโลกนี้"

ขอถามทีเถิดขอรับพระเดชพระคุณเจ้าประคุณสมเด็จทั้งหลาย บรรดาถ้อยคำที่กระผมนำเสนอมานี้ มีคนมาเล่าให้ฟัง มันเข้าหูโดยไม่ต้องถาม ต่อหน้าเขาก็นบนอบ แต่ลับหลังเขาก็นินทา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเขามิได้เลื่อมใสเคารพศรัทธาในตัวของพวกท่านไง เขาสวมหน้ากากเข้าหาเพราะว่าพวกท่านชอบคนประจบสอพลอ แต่พอมหานรินทร์เขียนเตือน ก็โกรธหาว่าทำให้เสียหน้า แต่ว่ากิจการคณะสงฆ์และความมั่นคงของพระพุทธศาสนาซึ่งพวกท่านรับผิดชอบอยู่ในเวลานี้ ถูกปู้ยี่ปู้ยำไปหมดแล้ว กลับหูหนวกตาบอดมองไม่เห็นกัน ถามทีว่านี่มันเป็นอะไร บริหารกิจการพระศาสนากันแบบไหน ทำไมยิ่งบริหารยิ่งขาดทุนถึงกับล้มละลายทางศรัทธา

วันที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม มรณภาพลงไปนั้น หนังสือพิมพ์หลายเล่มได้ตีแผ่ชีวประวัติ รวมทั้งถ้อยคำที่ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า "เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้"

ซึ่งในวันที่ 30 มีนาคม 2554 ซึ่งพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) เข้ารับตราตั้งเจ้าคณะใหญ่หนกลางจากสมเด็จวัดสระเกศนั้น ท่านก็กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า "จะยึดปฏิปทาของสมเด็จพระมหาธีราจารย์เป็นหลักในการทำหน้าที่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง" ซึ่งก็คือว่าจะทำงานหนัก ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และที่สำคัญก็คือ "คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนไม่ได้" ที่ว่าไม่ได้นั้นก็คือว่า จะไม่ยอมให้มีข้อบกพร่องเป็นช่องให้คนอื่นโจมตีได้ไม่ว่ากรณีใดๆ

แต่พอวันที่ 20 เมษายน 2554 พระพรหมโมลีก็ไม่ทำให้สมเด็จฯวัดชนะท่านผิดหวัง เมื่อนำเสนอชื่อพระมหาสายชล (พระโสภณปริยัติเวที) ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1

เกิดเป็นเสียงโห่ฮาไปทั่วประเทศและทั่วโลก !

ศพสมเด็จพระมหาธีราจารย์ยังตั้งบำเพ็ญกุศลอยู่ที่วัดชนะสงคราม ยังไม่มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชทานเพลิงศพ แต่ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา พระพรหมโมลี ท่านก็จัดการ "เผา" วัดชนะสงคราม เสียวายวอดแล้ว
มีบางคนกระซิบบอกผู้เขียนด้วยว่า ที่พระพรหมโมลีตั้งพระโสภณปริยัติเวทีขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 นั้น เพราะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านขอร้องไว้ก่อนตาย
ผู้เขียนเถียงทันทีว่า "สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านเป็นนักปราชญ์ คงไม่ทำพินัยกรรมโง่ๆ เช่นนั้นไว้หรอก และใครอ้างว่าท่านสั่งไว้แล้วใช้อำนาจไปในทางมิชอบ ถือว่ากล่าวตู่ต่อสมเด็จฯท่าน"
แต่ความเชื่อของผู้เขียนก็เป็นเพียงความเชื่อ เพราะเคยเชื่อผิดๆ มาแล้ว เช่น เคยเชื่อว่าพระพรหมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9 Ph.D.) นั้น ท่านเป็นนักปราชญ์ คงจะสามารถสอนสั่งพุทธศาสนิกชนด้วยอนุสาสนีตามที่พระพุทธองค์ทรงเสริญเสริญได้ แต่ที่ไหนได้ สุดท้ายท่านก็เอาแม่ชีมาสอนเรื่องดูกรรมแทน และเคยเชื่อว่า "ท่านจะพิจารณาหาพระเถระผู้ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 แทนท่าน ดังครูบาอาจารย์ในอดีตเคยกระทำ" แต่สุดท้ายท่านก็เลือกเอาพระเด็กๆ อ่อนทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิขึ้นเป็นแทน ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเชื่ออะไรอีกต่อไป จึงอยากจะนำคำพูดข้างต้นนั้นไปถามพระโสภณปริยัติเวทีว่า ในบรรดาพินัยกรรมของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ทั้งสองฉบับ ฉบับไหนเป็นของจริงฉบับไหนเป็นของปลอม ได้แก่

พินัยกรรมฉบับที่ 1ที่พระพรหมโมลีตั้งพระโสภณปริยัติเวทีขึ้นเป็นเจ้าคณะภาค 1 นั้น เพราะสมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านขอร้องไว้ก่อนตาย
พินัยกรรมฉบับที่ 2"เราเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ไม่ได้สบายอย่างที่คิด ต้องทำงานหนักหลายสิบเท่า ผิดเป็นไม่ได้ เพราะพระผู้ใหญ่มีหน้าที่ดูแลงานคณะสงฆ์ เขามอบหมายหน้าที่ให้ก็ต้องทำ ต้องทำให้ดี คนอื่นจะว่ากล่าวติเตียนเราไม่ได้"


ถ้าพินัยกรรมฉบับที่ 1 เป็นของจริง ฉบับที่ 2 เป็นของปลอม ก็นิมนต์พระโสภณปริยัติเวทีเป็นเจ้าคณะภาค 1 ต่อไปเถิดครับ
ถ้าพินัยกรรมฉบับที่ 1 เป็นของปลอม แต่ฉบับที่ 2 เป็นของจริง ก็ขอให้พระโสภณปริยัติเวที พิจารณาตัวเองได้แล้ว
พิจารณาลาออกเสียแต่วันนี้ จะสง่างาม เป็นการรักษาเกียรติยศศักดิ์ศรีของสมเด็จพระมหาธีราจารย์และวัดชนะสงคราม อย่าให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านมาเสื่อมเสียในตอนก่อนเผาจริงเลย

พระมหานรินทร์ นรินฺโท
วัดไทย ลาสเวกัส รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา20 พฤษภาคม 2554
09
:00 P.M. Pacific Time.

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

รุก"เวียงหนองหล่ม" วิถีคนกับควาย


 


วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 22 ฉบับที่ 8131 ข่าวสดรายวัน


รุก"เวียงหนองหล่ม" วิถีคนกับควาย


เกศศินีย์ นุชประมูล



"เวียงหนองหล่ม" ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เมื่อไม่กี่ปีอุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ เป็นดินแดนพื้นที่ชุ่มน้ำ เพราะรับน้ำจากหนองบงกาย และทะเลสาบเชียงแสน เขตติดต่อกัน 



แต่ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้กำลังวิกฤต บางจุดดินแตกระแหงถึงขนาดเดินข้ามได้ ความอุดมสมบูรณ์ไม่เหมือนเดิมแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านเลี้ยงควาย



เพราะที่เวียงหนองหล่มนับเป็นพื้นที่ที่เลี้ยงควายมากสุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง 



ชาวเวียงหนองหล่มแต่ละชุมชนรวมตัวจัดตั้งเป็น "ปางควาย" รวมแล้วมีกว่า 100 ปาง แต่ละปางมีควาย 450-490 ตัว จากเดิมมีพื้นที่อยู่ประมาณ 30,000 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 15,000 ไร่



เนื่องจากถูกกลุ่มนายทุนบุกรุก เพราะกะเก็งกันว่าหากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชียงของ-ห้วยทราย เสร็จเมื่อไหร่ราคาที่ดินจะสูงขึ้น 



อีกทั้งหน่วยงานท้องถิ่นเองก็เปิดให้เช่าพื้นที่ เพื่อทำสวนยาง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยังตัดถนนผ่ากลางพื้นที่ด้วย เมื่อสภาพพื้นที่เปลี่ยนย่อมส่งผลกระทบถึงอาชีพเลี้ยงควายของชาวบ้าน



ล่าสุดโครงการสุขภาวะชุมชนคนชายขอบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยกคณะรุดไปสำรวจวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของชาวเวียงหนองหล่ม 



นายดุสิต จิตรสุข ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำกก ให้ข้อมูลว่า ควายที่เวียงหนองหล่มมีจำนวนมาก รองลงมาจากควายน้ำในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ปี เวียงหนองหล่มมีควายมากถึง 6,000 ตัว ชาวบ้านเลี้ยงอย่างอิสระในพื้นที่เวียงหนองหล่ม 



แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1,300 ตัวเท่านั้น ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีรายได้จากการขายขี้ควายเป็นหลัก สำหรับนำไปทำปุ๋ย และขายพ่อแม่พันธุ์เป็นรายได้เสริม



"ปัจจุบันระบบนิเวศภายในพื้นที่เปลี่ยนไปอย่างมาก มีการบุกรุกจากคนภายนอกเข้ามาทำสวนยาง ไร่สับปะรด และทำนาปรัง ทำให้พื้นที่เดิมซึ่งมีหญ้าเป็นอาหารของควายหายไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ควายจึงไม่มีอาหารกิน เจ้าของควายจึงต้องขายควายให้นายทุน แล้วเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น เช่น รับจ้าง หรือเข้ามาทำงานในเมืองแทน" นายดุสิตกล่าว

1.พื้นที่เลี้ยงควายเหลือไม่มาก

2.พื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่ม ที่เริ่มถนนตัดผ่าน

3.ผืนดินเวียงหนองหล่มที่แห้งแตก

4.ภายในบริเวณปางควาย

5.-6.ควายของชาวบ้านเวียงหนองหล่ม

7.ปางควายของชาวบ้านเวียงหนองหล่ม

8.ฝูงควายพากันเดินกลับเข้าปาง





ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำกก บอกด้วยว่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนในพื้นที่กำลังจะหายไป เพราะการบริหารจัดการของทั้งหน่วยงานท้องถิ่นและภาครัฐ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตปางควายเวียงหนองหล่มจะค่อยๆ หายไปในที่สุด



"ที่สำคัญเวียงหนองหล่มได้รับการเชิดชูให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ทั้งนกน้ำ และปลานานาพันธุ์ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมหน่วยงานท้องถิ่นจึงไม่ค่อยให้ความสนใจในการดูแล กลับปล่อยให้มีการบุกรุกเข้ามาในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะการทำสวนยาง หรือนาปรัง" นายดุสิตชี้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น



แดดร่มลมตกฝูงควายเริ่มทยอยขึ้นจากหนองน้ำ หลังหากินแช่ปลักมาตลอดทั้งวัน ชาวบ้านที่นี่บอกว่าควายเป็นสัตว์ฉลาดมันจะรู้เวลาว่าต้องกลับเข้าปางตอนไหน โดยที่เจ้าของไม่ต้องเรียก และก็เป็นเช่นนั้น เมื่อควายจำนวนมากทยอยเดินกลับเข้าที่อยู่ของมันอย่างเป็นระเบียบ



นายชัยยันต์ บุญโสภาค
 เจ้าของปางควาย บอกว่า ประกอบอาชีพเลี้ยงควายมาประมาณ 10 ปี โดยเริ่มต้นมีควายแค่ 21 ตัว กระทั่งออกลูกออกหลานจนมีควายถึง 74 ตัว ในขณะนี้ รายได้หลักของคนเลี้ยงควายมาจากการเก็บขี้ควายขาย มีรายได้จากการเก็บขี้ควาย สัปดาห์ละประมาณ 7,000 บาท มีรายได้เสริมจากการขายพ่อแม่พันธุ์ควาย แต่ละปีขายได้ 5-6 ตัว ราคาตัวละ 20,000-40,000 บาท และใช้ต้นทุนเลี้ยงดูควายน้อยมาก



"ก่อนหน้านี้ผมเชื่อมั่นว่าอาชีพเลี้ยงควายเป็นอาชีพที่มั่นคงและสบาย เพราะว่าควายที่เวียงหนองหล่มเป็นควายที่ดีและฉลาด เลี้ยงง่าย ชาวบ้านในบริเวณนี้ทั้งหมดล้วนนำควายของตัวเองไปเลี้ยงไว้ในบริเวณหนอง เดิมมีหญ้าให้ควายกินอย่างอุดมสมบูรณ์ เพียงพอที่ควายจะมีความสุขตามประสาของมัน"

1.-2.ยามเย็นเวียงหนองหล่ม

3.ดุสิจ จิตสุข

4.สวิง จันทาพูน 





"หากมองมาจากไกลๆ จะเห็นควายจำนวนมากรวมตัวกันอยู่ในหนอง โดยไม่รู้ว่าควายตัวไหนเป็นของใคร แต่เป็นความน่าอัศจรรย์ และความฉลาดของควาย ที่เมื่อถึงเวลา 4 โมงครึ่งของทุกวัน พวกมันจะเดินเข้าคอกของตัวเอง ไม่เคยมีตัวไหนหลงไปคอกอื่น โดยเจ้าของไม่จำเป็นต้องต้อนเลย" นายชัยยันต์กล่าว



นายชัยยันต์บอกอีกว่า ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มหนักใจกับอาชีพเลี้ยงควายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพื้นที่สำหรับเลี้ยงลดน้อยลงกว่าครึ่ง เพื่อนบ้านหลายคนจำเป็นต้องขายควาย ของตัวเองไปทั้งน้ำตา เพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากไม่มีที่เลี้ยง และไม่มีหญ้าให้กิน ชาวบ้านเริ่มคุยกันมากขึ้นว่าในอนาคตปางควายเวียงหนองหล่มจะเหลือแค่อดีตเท่านั้น



ชาวบ้านผู้เลี้ยงควายสะท้อนด้วยว่า ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงยังมีปัญหาเรื่องการดูแลสุขภาพ เนื่องจากในแต่ละปีควายต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอบวม และโรคปากเท้าเปื่อยปีละ 1 ครั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ไม่มาให้บริการได้ครบและทั่วถึง เนื่องจากหลายคนกลัวอันตรายว่าจะโดนควายทำร้าย จึงไม่กล้ามาให้บริการ 



"ในส่วนของผมเองแก้ปัญหานี้โดยไปอบรมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อฝึกการฉีดวัคซีนให้ควายด้วยตัวเอง แต่ยังมีเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ไม่สามารถทำได้ อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นหากมีโรคระบาด ถือว่าน่าเป็นห่วงที่จะบั่นทอนให้ปริมาณควายลดจำนวนได้เร็วยิ่งขึ้น"



"ผมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับการดูแลควายในพื้นที่เวียงหนองหล่ม เพราะพื้นที่แห่งนี้มีวัฒนธรรมการเลี้ยงควายที่ใหญ่ระดับประเทศแห่งหนึ่ง หากปล่อยให้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นอนาคตของควายในพื้นที่นี้ก็จะหมดไปเรื่อยๆ" นายชัยยันต์ชี้ข้อเท็จจริงที่เวียงหนองหล่ม



อีกหนึ่งเสียงสะท้อนของคนเลี้ยงควาย นายสวิง จันทาพูน หรือ ลุงสวิง ชาวบ้าน ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน เจ้าของควายกว่า 60 ตัว เล่าถึงวิถีคนเลี้ยงควายว่า เลี้ยงมาตั้งเเต่สมัยเป็นเด็กแล้วก็หยุดไปพักหนึ่ง ก่อนกลับมาเลี้ยงใหม่เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ที่หยุดไปเพราะช่วงนั้นมีรถไฟมากขึ้น อีกทั้งเมื่อก่อนขี้ควายไม่สามารถนำไปขายได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ 



ลุงสวิงบอกว่า ที่สำคัญที่นาที่มีก็ไม่ได้นำไปทำอย่างอื่น นอกจากใช้เลี้ยงควายอย่างเดียว ตั้งแต่มีการทำนาปรังมากขึ้นทำให้การเลี้ยงควายเหนื่อยมากขึ้น อย่างช่วงนี้ถ้าเป็นเมื่อก่อนควายสามารถหากินในพื้นที่ต่างๆ ได้หมด แต่เมื่อมีนาปรังพื้นที่หากินก็จำกัดลง 



"ปัญหาที่มีตอนนี้คือพื้นที่สำหรับควายออกไปหากินเหลือน้อยลงทุกที จนแทบจะไม่มีที่ให้ควายออกไปหากินเเล้ว ตอนนี้หนองหายไปเกือบหมด เพราะถูกถนนตัดผ่าน ถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากชาวบ้านเอาพื้นที่ไปทำนาปรังกันหมดเเล้ว อย่างเมื่อก่อนควายออกหากินได้ทุกที่ แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ควายหากินลดลง น้ำในหนองก็แห้งลงอย่างรวดเร็ว เพราะถูกดูดใส่นาปรังกันหมด"



"ถ้าพื้นที่ถนนและการปลูกข้าวรุกเข้ามาเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่เลี้ยงควายของลุงอย่างแน่นอน ถ้ามันรุกเข้ามาใกล้ที่ของลุงจริงๆ คงต้องหยุดเลี้ยงควาย ลุงพูดกับลูกเสมอว่าถ้ายังมีที่ให้ควายหากินได้อยู่ก็คงต้องเลี้ยงต่อไป แต่ถ้าวันหนึ่งไม่มีที่ให้ควายหากินก็คงต้องขายควายออกไป เหมือนอย่างคนเลี้ยงควายหลายๆ คนที่ต้องขายควายให้นายทุน"



"แม้วันหนึ่งต้องขายควายออกไปจริงๆ ก็คงไปทำนาเหมือนเขาไม่ได้ แต่ใจจริงเเล้วไม่อยากให้ถึงตอนนั้น ยังอยากเลี้ยงควายอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะเลี้ยงเป็นแต่ควายอย่างเดียว" ลุงสวิงเล่าอย่างหดหู่



สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และการพัฒนาอันไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ไม่เฉพาะควายเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ส่งผลสะเทือนถึงชาวเวียงหนองหล่มเองด้วย


หน้า 21


 

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันพุธที่ 6 มีนาคม 2556 เวลา08.30-17.00น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท




บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ หรือ เอชดีเอสจัดงาน "Hitachi Data Systems Solutions Day Thailand 2013"ภายใต้แนวคิด"Big Data Big Opportunities for a Smart Business" ในวันพุธที่ 6 มีนาคม 2556 เวลา08.30-17.00น. ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 5 โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในงานจะได้พบกับสุดยอดโซลูชั่นที่มาตอบโจทก์ความต้องการให้กับองค์กร ในการบริหารจัดการบิ๊กดาต้า พร้อมรับฟังทัศนะและแนวคิดต่างๆ จากผู้นำด้านไอทีระดับโลกทั้งจาก บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ และพันธมิตรระดับแนวหน้าด้านไอที

 ไม่ว่าจะเป็น อินเทล โบรเคด วีเอ็มแวร์ และคอมม์วอลท์ ในหัวข้อต่างๆ อาทิ แนวคิดการสร้างสตอเรจอัจฉริยะ, การสร้างระบบคลาวด์ ให้เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับองค์กรธุรกิจ,Fabric technology สถาปัตยกรรมสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์สมัยใหม่ และแนวคิดน่าสนใจอีกมากมาย รวมทั้งรับฟังแนวคิดการจัดการบิ๊กดาต้าบนระบบคลาวด์ จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มหรือสำรองที่นั่งได้ที่ คุณนีลวรรณ โทร. 02-937-4518-9 ต่อ 45 หรือ อีเมล์:HDS-Solutionsday@thailandevent.net






อาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม 2556 เวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น ณ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์

โครงการวัดปลอดเบาหวาน ณ วัดสระเกศ ใกล้เริ่มแล้ว อาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคมนี้...โดยวันนี้ พระครูสิริวิหารการ, พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท, นายกาญจน์ ถาวรบรรจบ, นางสาวธัญญา วรรณพฤกษ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ และทีมงานเข้าร่วมประชุมและสำรวจสถานที่เพื่อเตรียมงานโครงการ "วัดปลอดเบาหวาน" ณ ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยกิจกรรมเริ่มเวลา ๑๔.๐๐-๑๗.๐๐ น. ประกอบด้วย * รับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน * วัดความดันโลหิต * ประเมินความเสี่ยง * รับคำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจากแพทย์ ทั้งนี้ยังมีกิจกรรม : ความรู้ในเรื่องเบาหวานขั้นเทพ : ออกกำลังกายสไตล์พระ : ดูแลชีวิต ไม่ให้ผิดที่ฉัน...ท่านใดสนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ info.fblg@gmail.com หรือ patcha_tr@hotmail.com :: Admin 12 ::